หนังสือเดินทาง

หนังสือเดินทางคืออะไร? มีกี่ประเภท?

 

ทีมงานมีทรัพย์มั่นใจว่าทุกคนน่าจะเคยได้ยิน เคยใช้ เคยถือ สิ่งที่เรียกว่า “ หนังสือเดินทาง ” กันมาแล้วอย่างแน่นอนค่ะ แต่ทุกคนรู้ไหมคะว่าจริงๆ แล้ว หนังสือเดินทางเนี่ยคืออะไร? มีกี่ประเภท? และต่างกันยังไง? วันนี้ทีมงานมีทรัพย์จะมาขยายความให้อ่านกันค่ะ

 

หนังสือเดินทาง หรือ Passport คือเอกสารที่รับรองสัญชาติของผู้ถือ และเป็นเอกสารแสดงตน ของผู้ถือซึ่งออกโดยรัฐบาลของแต่ละประเทศ (หากเราเป็นคนไทย รัฐบาลไทยก็จะเป็นผู้ออกหนังสือ เดินทางให้เราค่ะ) และใช้สำหรับใช้เดินทางระหว่างประเทศ 

 

แต่ๆๆ สิ่งที่ทุกคนน่าจะยังไม่รู้ คือ.. หนังสือ เดินทางนั้น ไม่ได้ให้สิทธิ์ผู้ถือเข้าไปในประเทศอื่น แต่ให้สิทธิ์แก่ผู้ถือหนังสือ เดินทางในการเดินทางกลับประเทศที่ออกหนังสือ เดินทางนะคะ สมมติว่าเรากำลังจะเดินทางเข้าประเทศอังกฤษ แต่พกแค่หนังสือ เดินทางไทยไป ก็อาจจะไม่สามารถเข้าได้นะคะ (เพราะเอกสารที่อนุญาตให้เข้าประเทศได้นั้นคือ วีซ่า ค่ะ) แต่เดชะบุญ ถึงแม้จะเข้าอังกฤษไม่ได้ แต่เรายังสามารถเดินทางกลับมาเข้าประเทศไทยได้ค่ะ

 

ซึ่งข้อมูลสำคัญที่ปรากฏบนหนังสือ เดินทาง จะประกอบไปด้วย ชื่อ วันเดือนปีเกิด เพศ และสถานที่เกิดของผู้ถือหนังสือ เดินทางค่ะ นอกจากนั้นแล้ว หนังสือ เดินทาง ยังสามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภทแบบปกติ และอีก 3 ประเภทแบบพิเศษ ดังนี้

 

 

หนังสือ เดินทาง 4 ประเภทแบบปกติ 

 

1.หนังสือเดินทางธรรมดา (Ordinary Passport) มีหน้าปกสีน้ำตาล จะออกให้สำหรับประชาชนทั่วไป หนังสือ เดินทางมีอายุไม่เกิน 5 ปี มี 66 หน้า ไม่สามารถต่ออายุเพิ่มได้

 

2.หนังสือ เดินทางราชการ (Official Passport) มีหน้าปกสีน้ำเงินเข้ม มีอายุไม่เกิน 5 ปี ผู้ถือต้องใช้ในราชการ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศอนุมัติเท่านั้น ไม่สามารถนำไปใช้ในการเดินทางส่วนตัว มีข้อกำหนดให้ออกให้เฉพาะข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่จัดตั้งตามรัฐธรรมนูญ สมาชิกรัฐสภาซึ่งเดินทางไปราชการในต่างประเทศ และบุคคลอื่นใดที่เดินทางเพื่อทำประโยชน์แก่ทางราชการตามที่กระทรวงการต่างประเทศอนุมัติ เท่านั้น

 

3.หนังสือ เดินทางทูต (Diplomatic Passport) มีหน้าปกสีแดงสด มีอายุไม่เกิน 5 ปี ไม่สามารถต่ออายุเพิ่มได้ มีข้อกำหนดออกให้เฉพาะบุคคลที่ทำประโยชน์แก่ทางราชการหรือภายใต้พันธกรณีระหว่างประเทศ มีข้อกำหนดออกให้เฉพาะบุคคลดังต่อไปนี้

  • พระบรมวงศ์และพระนัดดาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
  • พระอนุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้าและคู่สมรส
  • พระราชวงศ์และบุคคลสำคัญที่ราชเลขาธิการขอไปเป็นกรณีพิเศษ
  • ประธานองคมนตรี และองคมนตรี
  • นายกรัฐมนตร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี
  • ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา
  • ประธานศาลฎีกา รองประธานศาลฎีกา และประธานศาลอุทธรณ์
  • ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลปกครองสูงสุด
  • อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ
  • ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ ผู้บัญชาการเหล่าทัพ
  • ข้าราชการที่มีตำแหน่งทางการทูต ซึ่งเดินทางไปราชการในต่างประเทศ
  • ข้าราชการที่มีตำแหน่งทางการทูต ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ประจำอยู่ ณ ส่วนราชการในต่างประเทศ คู่สมรส และบุตรในประเทศที่ประจำอยู่หรือทำการศึกษาอยู่ในประเทศอื่น แต่บุตรจะต้องอายุไม่เกิน 25 ปี
  • คู่สมรสที่ร่วมเดินทางไปกับบุคคลดังกล่าวในข้อ 3.2-3.8
  • บุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการหรือภายใต้พันธกรณีระหว่างประเทศ หรือภายใต้สถานการณ์พิเศษที่มีความจำเป็น หรือเผยแพร่ชื่อเสียงเกียรติคุณของประเทศไทย

 

4.หนังสือ เดินทางชั่วคราว (Temporary Passport) มีหน้าปกสีเขียว มีอายุ 1 ปี จะออกให้ในกรณีที่ทำหนังสือ เดินทางสูญหายหรือหมดอายุ และมีความจำเป็นเร่งด่วนจะต้องเดินทางไปต่างประเทศ โดยไม่อาจรอการออกหนังสือ เดินทางได้ อย่างไรก็ดี หนังสือ เดินทางชั่วคราวมีข้อจำกัด คือ ไม่มี Machine Readable Barcode ซึ่งหากนำไปขอวีซ่า บางประเทศอาจไม่ยอมรับ

 

 

หนังสือเดินทาง 3 ประเภทแบบพิเศษ

 

1.หนังสือ เดินทางพระ

ออกให้สำหรับพระภิกษุและสามเณรที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปต่างประเทศตามนัยระเบียบมหาเถรสมาคม

 

2.หนังสือ เดินทางเพื่อไปประกอบพิธีฮัจญ์

ออกให้ชาวมุสลิมที่เพื่อเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ หนังสือ เดินทางประเภทนี้จะมีอายุ 2 ปีเท่านั้น

 

3.เอกสารสำคัญประจำตัวเพื่อใช้แทนหนังสือ เดินทาง

(Certificate of Identity หรือ C.I.) ออกให้กรณีฉุกเฉินสำหรับผู้ที่ต้องเดินทางแต่หนังสือ เดินทางหมดอายุ หรือสูญหาย และไม่สามารถทำหนังสือ เดินทางใหม่ได้ทันตามกำหนดที่ต้องเดินทางกลับประเทศไทย ทั้งนี้ C.I. สามารถใช้เดินทางกลับประเทศไทยได้เพียงอย่างเดียว และมีอายุใช้งาน 30 วัน หรือตามระยะเวลาที่ผู้ออกกำหนดนับจากวันที่ออก ผู้ที่ถือ C.I. อาจต้องได้รับการพิสูจน์สัญชาติไทยจากกองตรวจคนเข้าเมืองเมื่อเดินทางถึงประเทศไทยด้วย

 

 

การขอทำหนังสือ เดินทางไทย

 

1. หนังสือ เดินทางธรรมดา

 

1.1 การทำหนังสือ เดินทางธรรมดาเล่มใหม่ E-Passport

  • ท่านจะต้องกรอกข้อมูลลงในแบบฟอร์มแล้วยื่นต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อตรวจสอบบุคคลต้องห้าม แล้วเจ้าหน้าที่จะจัดให้ถ่ายรูปและเก็บลายนิ้วมือ
  • การทำ E-passport ผู้ต้องการขอทำ จะต้องมาติดต่อสถานทูตด้วยตนเองเท่านั้น กรณีบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (อายุไม่ถึง 20 ปี) ผู้ปกครองจะต้องมาด้วย
  • การขอหนังสือ เดินทางใหม่หรือ E-passport ใช้เวลาทำการ 3 สัปดาห์โดยประมาณ
  • ค่าธรรมเนียม 130 กาตาร์ริยาล
  • รับยื่นเอกสาร และถ่ายรูปทุกวันทำการ (อาทิตย์-พฤหัสบดี) เวลา 08.30 – 12.00 น. และ 14.00 – 16.30 น.

 

1.2 เอกสารที่ต้องเตรียม

 

  • บุคคลที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป

– บัตรประชาชน
– หนังสือ เดินทางเล่มปัจจุบัน

 

  • บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี (บิดาและมารดาต้องไปลงนามให้ความยินยอมต่อหน้าเจ้าหน้าที่ในวันที่ขอทำหนังสือ เดินทางด้วย)

 

(1) กรณีบิดามารดาจดทะเบียนสมรส

                         – หนังสือ เดินทางเล่มปัจจุบัน
                         – บัตรประชาชน
                         – สูติบัตรไทย
                         – ทะเบียนสมรสของบิดามารดา
                         – เอกสารประจำตัวของบิดา/มารดา (บัตรประชาชน หรือ Passport)
(2) กรณีบิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรส
                         – หนังสือ เดินทางเล่มปัจจุบัน
                         – บัตรประชาชน
                         – สูติบัตรไทย
                         – ใบปกครองบุตร หรือ ป.ค.14
                         – เอกสารประจำตัวของบิดา/มารดา (บัตรประชาชน หรือ Passport)
(3) กรณีบิดามารดาได้จดทะเบียนหย่าเเล้ว
                         – หนังสือ เดินทางเล่มปัจจุบัน
                         – บัตรประชาชนหรือทะเบียนบ้าน
                         – สูติบัตรไทย
                         – ใบหย่าของบิดามารดา
                         – ใบปกครองบุตรหรือ ป.ค.14 หรือ บันทึกการหย่าที่ระบุผู้มีอำนาจในการปกครองบุตร
                         – เอกสารประจำตัวของบิดา/มารดา (บัตรประชาชน หรือ Passport)

  • กรณีบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี บิดาและมารดาต้องไปลงนามให้ความยินยอมต่อหน้าเจ้าหน้าที่ในวันที่ขอทำหนังสือ เดินทาง เว้นแต่เข้ากรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ 

 

                   (1) กรณีบิดาหรือมารดา หรือทั้งบิดาและมารดาไม่สามารถไปลงนามให้ความยินยอมได้ : ให้บุคคลที่ไม่สามารถไปลงนามให้ความยินยอมฯ ต่อหน้าเจ้าหน้าที่ทําหนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศ (ยกเว้นกรณีที่ผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ที่บิดาและมารดาไม่สามารถไปลงนามให้ความยินยอมต่อหน้าเจ้าหน้าที่ได้ ให้ทําหนังสือมอบอํานาจให้บุคคลอื่น (ที่บรรลุนิติภาวะ (อายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป)) เป็นผู้พาผู้เยาว์ไปยื่นคําร้องขอทําหนังสือ เดินทางเพิ่มเติมจากหนังสือยินยอมฯ ข้างต้นพร้อมบัตรประชาชนฉบับจริงของผู้รับมอบอํานาจ)

 

                   (2) กรณีผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม : ให้ผู้รับบุตรบุญธรรมเป็นผู้ลงนามให้ความยินยอมฯ พร้อมกับทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมและบัตรประจําตัวประชาชนฉบับจริงของผู้รับบุตรบุญธรรม

 

                   (3) กรณีบิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต : ให้บิดาหรือมารดาที่ยังมีชีวิตมาลงนามให้ความยินยอมฯ พร้อมกับใบมรณบัตรของอีกฝ่ายหนึ่ง และบัตรประชาชนฉบับจริงของบิดาหรือมารดาแล้วแต่กรณี

 

                   (4) กรณีอื่นๆ ที่จะต้องมีคําสั่งศาลซึ่งระบุชื่อผู้มีอำนาจปกครอง เช่น

 

                         ก) กรณีทั้งบิดาและมารดาเสียชีวิต ให้ผู้ปกครองที่มีชื่อระบุตามคําสั่งศาลเป็นผู้ลงนามให้ความยินยอมฯ พร้อมกับคําสั่งศาลฯ และบัตรประจําตัวประชาชนฉบับจริงของผู้มีอํานาจปกครองตามคําสั่งศาล

 

                         ข) กรณีบิดาหรือมารดาผู้เยาว์เป็นชาวต่างชาติมิได้จดทะเบียนสมรสและไม่สามารถตามหาอีกฝ่ายหนึ่งมาให้ความยินยอมได้ ให้ผู้ปกครองที่มีชื่อระบุตามคําสั่งศาลเป็นผู้ลงนามให้ความยินยอมฯ พร้อมกับคําสั่งศาลฯ และบัตรประจําตัวประชาชนฉบับจริงของผู้มีอํานาจปกครองตามคําสั่งศาล

 

                         ค) กรณีบิดามารดามิได้จดทะเบียนสมรสแต่บุตรอยู่ในความดูแลของบิดาฝ่ายเดียวมาโดยตลอดและไม่สามารถติดต่อมารดาได้ ให้ผู้ปกครองที่มีชื่อระบุตามคําสั่งศาลเป็นผู้ลงนามให้ความยินยอมฯ พร้อมกับคําสั่งศาลฯ และบัตรประจําตัวประชาชนฉบับจริงของผู้มีอํานาจปกครองตามคําสั่งศาล

 

 

 

2. เอกสารสำคัญประจำตัวเพื่อใช้แทนหนังสือ เดินทาง Certificate of Identity (C.I.) หากต้องกลับประเทศไทย

 

 

2.1 หลักฐานประกอบ ในกรณีหนังสือ เดินทางสูญหาย

  • ใบแจ้งความ
  • สำเนาเล่มเดิม/บัตรประชาชน
  • สำเนา I.D. กาตาร์ (หากมี)
  • รูปถ่ายขนาดเดียวกับที่ ใช้ในหนังสือ เดินทางจำนวน 3 รูป
  • แบบฟอร์มคำร้อง จำนวน 1 ชุด

 

 

2.2 หลักฐานประกอบ ในกรณีหนังสือ เดินทางหมดอายุ

  • หนังสือ เดินทางเล่มเดิม/บัตรประชาชน
  • สำเนาบัตร I.D.กาตาร์
  • รูปถ่ายขนาดเดียวกับที่ใช้ในหนังสือ เดินทางจำนวน 3 รูป
  • แบบฟอร์มคำร้อง จำนวน 1 ชุด

 

 

หมายเหตุ การขอทำหนังสือ เดินทางประเภทอื่น ๆ ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของกรมการกงสุล

 

ไม่น่าเชื่อเลยนะคะว่าหนังสือ เดินทางที่เราใช้ๆกันอยู่ จะมีความหมายและการใช้งานมากมายขนาดนี้ อย่างงี้ทีมงานมีทรัพย์ต้องขอตัวไปศึกษาข้อมูลอื่นๆ มาเพิ่มเพื่อมาเล่าให้ทุกคนอ่านอีกค่ะ 

 

Source 1

Source 2

 

วีซ่า กับ หนังสือเดินทาง ต่างกันยังไง ?

 

เป็นอีกคำถามที่หลายคนสับสนกันเป็นอย่างมากเลยนะคะ กับข้อแตกต่างระหว่างวีซ่า และ หนังสือ เดินทาง ที่พวกเราใช้ๆกันอยู่… วันนี้ทีมงานมีทรัพย์จะขอมาอธิบายข้อแตกต่างให้ทุกคนเข้าใจง่ายๆกัน มาเริ่มกันที่หนังสือ เดินทางกันก่อนเลยค่ะ

 

หนังสือ เดินทาง (Passport) เป็นเอกสารที่รับรองสัญชาติของผู้ถือ และเป็นเอกสารแสดงตน (Identity) ของผู้ถือ ซึ่งออกให้โดยรัฐบาลของแต่ละประเทศ สำหรับใช้เดินทางระหว่างประเทศ หรือเปรียบเทียบง่ายๆ หนังสือ เดินทาง ก็เปรียบเสมือนบัตรประชาชนของแต่ละคน ที่ใช้สำหรับการเดินทางระหว่างประเทศ

ส่วน วีซ่า (Visa) คือ เอกสารที่แสดงให้เห็นว่า บุคคลนั้นได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศหรือดินแดนที่ระบุไว้ ภายใต้ระยะเวลาและจุดประสงค์ที่กำหนด หรือ เอกสารที่ใช้เพื่อการตรวจสอบการเข้าเมือง โดยวีซ่าจะถูกขอเรียกดูโดยเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ณ ประเทศที่เรากำลังจะเดินทางเข้าไปค่ะ

 

แล้วความสัมพันธ์ของหนังสือ เดินทางกับวีซ่าเป็นอย่างไร? โดยปกติแล้ว “วีซ่า” อาจจะปรากฏเป็นรอยประทับ หรือ เป็นแผ่นกระดาษสติกเกอร์ที่ติดใน “หนังสือ เดินทาง” นั่นเองค่ะ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ในการเดินทางเข้าประเทศใดประเทศหนึ่ง จะต้องใช้ทั้ง หนังสือ เดินทาง (เอกสารแสดงตัวตน) และวีซ่า (เอกสารแสดงว่าได้รับอนุญาตเข้าประเทศ) ควบคู่กันไปค่ะ แต่ก็อาจจะมีข้อยกเว้นในบางประเทศที่เราไม่ต้องขอวีซ่าระหว่างประเทศ จึงทำให้ในบางกรณี เราอาจจะสามารถใช้แค่หนังสือ เดินทางเพื่อแสดงตนกับเจ้าหน้าที่ แต่ไม่จำเป็นต้องมีวีซ่าเพื่อเดินทางเข้าประเทศนั้นๆ 

 

จบไปแล้วนะคะ กับข้อสงสัยระหว่างวีซ่า และ หนังสือ เดินทาง หลังจากนี้ ทีมงานมีทรัพย์ก็หวังว่าทุกคนจะสามารถเลือกใช้สองอย่างนี้ได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น ไว้จะหาสาระดีๆ มาเล่าให้ฟังอีกนะคะทุกคน

 

Source 1

 

สถานทูตคืออะไร? สำคัญแค่ไหน?

 

ทุกคนรู้กันไหมคะว่า “สถานทูต” ที่เรายื่นวีซ่ากันนั้น จริงๆ แล้วมีหน้าที่อะไรบ้าง? ทีมงานมีทรัพย์บอกเลยค่ะว่ามีมากกว่าที่คิด! บางข้อก็เพิ่งมาได้ทราบหลังจากศึกษาหัวข้อนี้จริงๆ จังๆ ยังไงลองไปอ่านกันเลยค่ะ

 

“สถานทูต” หรือ “สถานเอกอัครราชทูต” เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้น เพื่อการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relations) ของประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดี และจะมีการแลกเปลี่ยนการจัดตั้งหน่วยงานหรือตัวแทนไปประจำยังต่างประเทศ และทีมงานมีทรัพย์ขออนุญาตใช้ตัวอย่างเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจนะคะ อย่างเช่น ประเทศออสเตรเลีย ที่ได้ให้จัดตั้งสถานทูตออสเตรเลียในประเทศไทย เพื่อจุดประสงค์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (ไทย-ออสเตรเลีย) และภายในสถานทูตออสเตรเลียนั้น จะทีเจ้าหน้าที่ที่ทางประเทศออสเตรเลียให้มาประจำ ณ ประเทศไทย เพื่อดำเนินงานดังกล่าวนั่นเองค่ะ

 

ซึ่งตามกฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ. 2558 ข้อ 18 ได้ระบุให้ สถานเอกอัครราชทูต (ไทย ในต่างประเทศ) มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

  1. ดำเนินการเกี่ยวกับการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศที่อยู่ในความรับผิดชอบ
  2. ดำเนินการเกี่ยวกับงานด้านกงสุล ตลอดจนดูแล ปกป้อง และคุ้มครองผลประโยชน์ของประเทศไทยและคนไทยในประเทศที่อยู่ในความรับผิดชอบ
  3. ดำเนินการเกี่ยวกับการรายงานสถานการณ์และพัฒนาการทางการค้า เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมในประเทศที่อยู่ในความรับผิดชอบมายังกระทรวง
  4. กำกับและดูแลการปฏิบัติงานของสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ที่อยู่ในความรับผิดชอบ
  5. ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้รับมอบหมาย

 

นอกจากนี้ ยังมีงานอื่นๆ ที่ผู้คนนึกไม่ถึง เช่น การสืบหาญาติที่อยู่ในต่างแดนและขาดการติดต่อ การให้คำปรึกษาแก่คนไทยในต่างแดนที่เดือดร้อน การส่งคนไทยกลับประเทศเมื่อประเทศในสถานการณ์ฉุกเฉิน การช่วยเหลือผู้ที่ถูกดำเนินคดีในต่างประเทศ การนำศพกลับประเทศเพื่อทำพิธีทางศาสนา หรือแม้กระทั่งการเผาศพ การฝังศพ ขุดศพในต่างประเทศ การจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร และการจัดการเลือกตั้งแบบ E-Voting 

 

ซึ่งสถานทูตประเทศอื่นๆ ที่ตั้งอยู่ในไทย ก็จะมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่คล้ายคลึงกันค่ะ ดังนั้น สถานทูตถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเป็นที่พึ่งของประชากรของตนในต่างแดน ในสถานการณ์ฉุกเฉินค่ะ

 

Source 1

 

สถานทูต กับ ศูนย์วีซ่าต่างกันยังไง?

 

ทำวีซ่าที่ศูนย์วีซ่า หรือที่สถานทูตดี? คำถามนี้หลายคนน่าจะเคยได้ยินผ่านหูกันมาบ้างแล้ว สำหรับวันนี้ทีมงานมีทรัพย์จะมาไขข้อสงสัยให้ค่ะ ว่าจริงๆแล้ว ศูนย์วีซ่า กับ สถานทูต นั้นเหมือนหรือต่างกันยังไง ไปอ่านกันเลยค่ะ

 

“สถานทูต” เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้น เพื่อการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relations) และจะมีการแลกเปลี่ยนตัวแทนไปประจำยังต่างประเทศด้วยค่ะ โดยทั่วไปสถานทูจะดูแลการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดำเนินการเกี่ยวกับงานด้านกงสุล ตลอดจนดูแล ปกป้อง และคุ้มครองผลประโยชน์ของประเทศ และดำเนินการเกี่ยวกับการรายงานสถานการณ์และพัฒนาการทางการค้า เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม

 

ส่วน “ศูนย์วีซ่า” นั้น เป็นองค์กรที่ได้รับการอนุญาตและมอบหมายจากสถานทูตของประเทศนั้นๆ ให้ดำเนินการเกี่ยวกับวีซ่าโดยเฉพาะ ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ตัวอย่างรายละเอียด (บางส่วน) ของศูนย์วีซ่า มีดังนี้ค่ะ

 

  • VFS Global เป็นบริษัทการค้าที่ทำงานร่วมกับสถานทูตเยอรมนีเพื่อให้บริการช่วยเหลือแก่ผู้ที่ยื่นขอวีซ่าเข้าสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

 

  • TLS Contact เป็นองค์กรรับยื่นขอวีซ่าเชงเก้น ที่สามารถพำนักในเขตเชงเก้นได้สูงสุด 90 วัน สำหรับรอบ 180 วัน ในประเทศเขตเชงเก้น และประเทศโปรตุเกสจะต้องเป็นจุดมุ่งหมายการเดินทาง

 

  • BLS International เป็นองค์กรที่รับยื่นขอวีซ่าประเทศสเปน ในประเทศไทย

 

กลับมาที่คำถามที่ว่า ทำวีซ่าที่ศูนย์วีซ่า หรือที่สถานทูตดี? จริงๆ แล้วคำตอบจะขึ้นอยู่กับประเภทของวีซ่าที่ต้องการจะยื่นและประเทศที่ต้องการจะเดินทางไปค่ะ วีซ่าระยะสั้นสำหรับบางประเทศอาจจะสามารถยื่นที่ศูนย์วีซ่าได้ ในขณะที่ วีซ่าของประเทศเดียวกัน อาจจะต้องยื่นที่สถานทูตของประเทศนั้นๆ เนื่องจากเป็นวีซ่าประเภทที่ต้องยื่นที่สถานทูตเท่านั้นค่ะ

 

ดังนั้น ทีมงานมีทรัพย์แนะนำว่าให้ลองศึกษาข้อมูลและประเภทของวีซ่าให้ละเอียด จะได้ไม่เกิดความสับสนในภายหลังนะคะ อย่างไรแล้ววันนี้ทีมงานมีทรัพย์ต้องขอตรวจไปเตรียมสาระดีๆ มาแบ่งปันอีกกันค่ะ

 

Source 1

Source 2

Source 3

Source 4

 

ทำไมถึงถูกปฏิเสธวีซ่า?

บทความที่เกี่ยวข้อง